เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัดโครงการฮีตเดือน 5 สรงน้ำพระ สักการบูชา “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” พุทธปฏิมาประจำเมืองมหาสารคาม ณ บริเวณหน้าหอพระ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง )
โดยกิจกรรมเริ่มจากช่วงเช้า จัดเสวนา “ย้อนรอยพระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” จากนั้นในช่วงบ่าย ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต ตั้งขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ ดอกไม้และน้ำ ที่อาคารอเนกประสงค์ 50 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีขบวนฟ้อนรำจากนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และขบวนกลองยาวโดยนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เคลื่อนขบวนเข้ามาสู่บริเวณงาน
จากนั้นรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก ถวายผ้าป่า จตุปัจจัยและเครื่องไทยธรรม พิธีอาราธนาพระเจ้าลงสรง พิธีรวมน้ำศักดิ์สิทธิ์ สรงพระพุทธกันทรวิชัยฯ ก่อนที่ขบวนฟ้อนรำของนิสิต คณาจารย์ บุคลากรจะได้แสดงฟ้อนสักการะสมโภชถวายพระพุทธกันทรวิชัยฯ และชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตลอดจนประชาชนที่มาร่วมในงาน ได้ฮดสรงน้ำพระพุทธกันทรวิชัย ฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล
รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงความเป็นมาของ พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก เป็นพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้แนวคิดการสร้างพระเกิดขึ้น จากการริเริ่มของศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม โดยมี อาจารย์อาคม วรจินดา เป็นประธานศูนย์ฯ และ ผศ.บุญเลิศ สดสุชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยคณาจารย์จากภาควิชาต่าง ๆ ซึ่งได้มีความเห็นว่าควรมีพระพุทธรูปที่เป็นเอกลักษณ์ประจำภาคอีสานและจัดสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี (พ.ศ.2525) ด้วย
ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาค้นคว้ารูปแบบจากพระพิมพ์ดินเผาซึ่งปรากฏพบอยู่ในภาคอีสานหลายแห่ง ท้ายสุดได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรใช้พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นแม่แบบ เนื่องจากมีพุทธลักษณะงดงามและมีความหมายทางพุทธธรรมลึกซึ้งอนึ่งพระพิมพ์ดินเผากันทรวิชัยนี้เป็นพิมพ์ ชัดสมาธิเพชรประทับนั่งบนฐานดอกบัวแบบพุทธนิกายมหายาน สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดีที่ได้รับแบบมาจากศิลปะสมัยปาละหรือคุปตะจากอินเดียในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13 โดยถูกขุดพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2514 ที่บ้านโนนเมือง ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่9 )ได้เสด็จมาที่ มศว มหาสารคาม พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อทรงเททองหล่อพระพุทธรูป โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถระ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นอกจากนี้ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก” และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดับบนผ้าทิพย์ด้านหน้าขององค์พระ และในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2524 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ หอประชุม มศว มหาสารคาม
ปัจจุบันพระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก ได้ประดิษฐานอยู่ที่หอพระ ข้างสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) นอกจากนี้ในโอกาสเดียวกันจังหวัดมหาสารคามได้จำลองพระพุทธกันทรวิชัย ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพระราชทานแก่จังหวัด และหน่วยราชการต่าง ๆ ในภาคอีสานอย่างทั่วถึง รวมทั้งสร้างจำลองอัญเชิญประดิษฐานในมณฑลหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม และประดิษฐานที่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคามในปัจจุบันด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://news.msu.ac.th/mnews/msuhotnews/incread.php?hid=10502
ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง และ อภิราม ทามแก้ว
ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง